องค์การบริหารส่วนตำบลโคกกลาง อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ :www.kokklang.go.th

 
 
ข่าวประชาสัมพันธ์


สรุปผลการดำเนินโครงการสัมมนาเชิงปฏิบัติการงานครบรอบ 10 ปี ศูนย์ดำรงธรรม นำสุขสู่ปวงชน

    รายละเอียดข่าว

สรุปผลการดำเนินโครงการสัมมนาเชิงปฏิบัติการงานครบรอบ 10 ปี ศูนย์ดำรงธรรม นำสุขสู่ปวงชน

ในวันที่ 16 สิงหาคม 2567 เวลา 08.30 - 16.00 น. 

ณ โรงแรมแกรนด์ริชมอนด์ ถนนรัตนาธิเบศร์ ตำบลบางกระสอ อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี

             กระทรวงมหาดไทย ได้ดำเนินโครงการสัมมนาเชิงปฏิบัติการงานครบรอบ 10 ปี ศูนย์ดำรงธรรม นำสุขสู่ปวงชน เสร็จเรียบร้อยแล้ว มีผู้เข้าร่วมโครงการ ประกอบด้วย ผู้บริหารกระทรวงมหาดไทย
ระดับกระทรวง กรม/รัฐวิสาหกิจ ผู้บริหารส่วนราชการภาคีเครือข่ายระดับกระทรวง/เทียบเท่า ผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ผู้ว่าราชการจังหวัด หัวหน้าหน่วยงานในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้าสำนักงานจังหวัด ผู้อำนวยการกลุ่มงานศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด เจ้าหน้าที่ที่จัดนิทรรศการ ประชาชนผู้รับรางวัลและครอบครัว สื่อมวลชน และผู้สังเกตการณ์ รวมจำนวน 440 คน สรุปผลการดำเนินโครงการได้ดังนี้







 

วัตถุประสงค์ 

เพื่อเป็นการแสดงผลงาน 10 ปี ศูนย์ดำรงธรรม การสร้างแบบอย่างที่ดีในการแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนร้องทุกข์ ให้แก่หน่วยงานภายในและภายนอก สร้างการมีส่วนร่วมของหน่วยงาน ภาคีเครือข่ายด้านร้องเรียนร้องทุกข์ และการมีส่วนร่วมของประชาชนในความประทับใจ และความคาดหวังต่อศูนย์ดำรงธรรม การสาธิตการจัดตั้ง
ศูนย์ดำรงธรรม (ส่วนหน้า) ตลอดจนเป็นการประชาสัมพันธ์ผลงานของศูนย์ดำรงธรรม ให้เป็นที่ประจักษ์ต่อส่วนร่วมและเป็นที่พึ่งให้แก่ประชาชนในการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข อย่างมีประสิทธิภาพ ทันโลก ทันสมัย ทันท่วงที






 

พิธีเปิดโครงการสัมมนาเชิงปฏิบัติการงานครบรอบ 10 ปี ศูนย์ดำรงธรรม นำสุขสู่ปวงชน    

        นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
และนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย มอบหมายให้ นายชำนาญวิทย์ เตรัตน์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการสัมมนาเชิงปฏิบัติการงานครบรอบ 10 ปี ศูนย์ดำรงธรรม นำสุขสู่ปวงชน
โดยมี นายโชคชัย วิเชียรชัยยะ รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นายราชันย์ ซุ้นหั้ว รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ผู้ว่าราชการจังหวัด (ได้แก่ จังหวัดกระบี่ จังหวัดกาฬสินธุ์ จังหวัดจันทบุรี จังหวัดฉะเชิงเทรา จังหวัดชัยภูมิ จังหวัดชุมพร จังหวัดตรัง จังหวัดตาก จังหวัดน่าน จังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดบึงกาฬ จังหวัดพัทลุง จังหวัดพิจิตร จังหวัดมุกดาหาร จังหวัดระนอง จังหวัดลพบุรี จังหวัดศรีสะเกษ จังหวัดสตูล จังหวัดสมุทรสงคราม จังหวัดหนองคาย จังหวัดหนองบัวลำภู จังหวัดอุทัยธานี จังหวัดอุตรดิตถ์ จังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดอำนาจเจริญ) หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย (นายณัฐวัสส์ วิริยานภาภรณ์) รองหัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย (นายวัชรเดช เกียรติชานน) ผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย (นางสาวเอกรัตน์ นาคาคง)

- 2 -

 

รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (นายสหรัฐ วงศ์สกุลวิวัฒน์) ผู้แทนกระทรวง/หน่วยงานภาคีเครือข่ายด้านร้องเรียนร้องทุกข์ ผู้แทนหัวหน้าส่วนราชการระดับกรม/รัฐวิสาหกิจ ร่วมเป็นเกียรติในพิธีเปิดโครงการฯ พร้อมด้วย นายไพฑูรย์ พรหมสอน ผู้อำนวยการสำนักตรวจราชการและเรื่องราวร้องทุกข์ สป.
นางศุภวรรณ บูชาดี นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการพิเศษ รักษาการในตำแหน่ง ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาระบบตรวจราชการและจัดการเรื่องราวร้องทุกข์ นายปวเรศ รัฐขจร ผู้อำนวยการกลุ่มงานศูนย์ดำรงธรรม สำนักตรวจราชการและเรื่องราวร้องทุกข์ สป. (ศูนย์ดำรงธรรม กระทรวงมหาดไทย) หัวหน้าสำนักงานจังหวัด ผู้อำนวยการศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด ผู้แทนหน่วยงานในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย (ส่วนกลาง) นอกจากนี้ ได้มีการถ่ายทอดสดผ่านระบบออนไลน์ไปยังศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด ๗๖ จังหวัด และศูนย์ดำรงธรรมอำเภอทั้ง ๘๗๘ อำเภอ 

การจัดกิจกรรมตามโครงการสัมมนาเชิงปฏิบัติการงานครบรอบ 10 ปี ศูนย์ดำรงธรรม นำสุขสู่ปวงชน 

        1. การจัดกิจกรรมนิทรรศการแสดงผลงานในรอบ 10 ปี ดังนี้ 















 

1) นิทรรศการ 10 ปี ศูนย์ดำรงธรรม กระทรวงมหาดไทย นำสุขสู่ปวงชน แสดงถึงประวัติความเป็นมา ภารกิจของศูนย์ดำรงธรรมที่ขับเคลื่อนนโยบายสำคัญของรัฐบาลและกระทรวงมหาดไทยตลอดจนผลการดำเนินงานในการให้บริการและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในรอบ 10 ปี
            2) นิทรรศการผลงานโดดเด่น ระดับประเทศของศูนย์ดำรงธรรมในรอบ 10 ปีประกอบด้วย 1) รางวัลเลิศรัฐ จำนวน 4 รางวัล 2) รางวัลศูนย์ราชการสะดวก (GECC)    จำนวน 21 รางวัล
3) รางวัลสุดยอดนวัตกรรม สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย จำนวน 2 รางวัล 4) รางวัล Damrongdham Award จำนวน 5 รางวัล และ 5) รางวัลคุ้มครองผู้บริโภค จำนวน 5 รางวัล 

3) นิทรรศการ การจัดตั้งศูนย์ดำรงธรรม (ส่วนหน้า) ของศูนย์ดำรงธรรมกระทรวงมหาดไทยร่วมกับสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี รวมถึงนิทรรศการของภาคีเครือข่าย
ด้านร้องเรียนร้องทุกข์ ประกอบด้วย 1) สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี 2) กรุงเทพมหานคร 3) สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน 4) กระทรวงยุติธรรม 5) สำนักงานอัยการสูงสุด และ 6) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ  
    

 

- 3 -

4) นิทรรศการศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดที่ได้รับรางวัล “Damrongdham Award” จำนวน 5 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดสมุทรสงคราม จังหวัดฉะเชิงเทรา จังหวัดมหาสารคาม จังหวัดภูเก็ต และจังหวัดสุพรรณบุรี 

    2. พิธีเปิดและมอบนโยบายการขับเคลื่อนงานแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนร้องทุกข์ของประชาชน 

            นายชำนาญวิทย์ เตรัตน์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ประธานในพิธีเปิดได้มอบนโยบายการขับเคลื่อนงานแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนร้องทุกข์ของประชาชน โดยได้กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทย
มีภารกิจสำคัญ คือ การบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ภารกิจของคนมหาดไทย แทรกไปในทุกพื้นที่ ทุกหมู่บ้าน
ทุกชุมชน บทบาทของกระทรวงมหาดไทยจึงเกี่ยวข้องกับทุกกระทรวง ทบวง กรม และเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของประชาชน โดยมีหน้าที่ คือ ดูแลทุกข์สุขของประชาชน ความสำคัญจึงอยู่ที่การบริหารจัดการ

สรรพกำลังในพื้นที่ โดยบทบาทของผู้นำซึ่งจะต้องมีทั้งความรู้และคุณธรรม จึงจะเกิดความสำเร็จ ความศรัทธาและเกิดการรวมพลังของทุกภาคส่วน การทำงานบำบัดทุกข์ บำรุงสุขของกระทรวงมหาดไทย ซึ่งก่อตั้งมา 133 ปี
และยังคงเป็นกระทรวงมหาดไทยอยู่ได้เพราะความเชื่อถือ ศรัทธาที่ประชาชนมีต่อผู้นำในพื้นที่ เพราะสามารถเป็นที่พึ่งให้แก่ประชาชน เป็นสิ่งที่กระทรวงมหาดไทยฝึกฝนให้คนมหาดไทยต้องทำงานกับทุกหน่วยงานได้
โดยไม่มีข้อขัดแย้งในการทำงานกับเพื่อนร่วมงาน เนื่องจากเราไม่มีอำนาจ เราเป็นเพียงผู้นำพาเขาทำ จะทำอย่างไรให้เขาทำตามที่เรานำ นั่นคือ ปัจจัยแห่งความสำเร็จ ที่ต้องฝึกฝนและใช้ประสบการณ์ในการทำงาน ศูนย์ดำรงธรรม ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2537 แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากเป็นเพียงแผนกหนึ่งของสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย จึงมีความจำเป็นต้องใช้ภาวะผู้นำในการทำงาน และได้มีการปรับเปลี่ยนโดยมีประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในปี พ.ศ. 2557 เข้ามารองรับการทำงาน ความท้าทายในการทำงาน

ของศูนย์ดำรงธรรมในทศวรรษหน้า คือ การบูรณาการสรรพกำลังของทุกภาคส่วน และการสร้างอุดมการณ์เดียวกัน คือ ความสุขของประชาชน โดยมีการวัดความสุขอย่างแท้จริง การจัดทำฐานข้อมูลในการบริหารจัดการและแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนร้องทุกข์ของประชาชน โดยการใช้เลขบัตรประจำตัวประชาชน 13 หลัก กำหนดการแบ่งประเภทเรื่องร้องเรียนร้องทุกข์ ออกแบบระบบติดตามเรื่องร้องเรียนร้องทุกข์ โดยทุกหน่วยงานจะต้องกำหนดมาตรฐานระยะเวลาในการแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนตามความยากง่ายของปัญหา และยุติเรื่องโดยให้ผู้ร้องเป็นผู้ถอนคำร้องทุกข์ เพื่อเป็นการวัดความสุขของประชาชนอย่างแท้จริง นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่
ผู้ปฏิบัติจำเป็นต้องมี mind set ในการทำงาน ผู้ร้องเปรียบเสมือนญาติ ปรารถนาที่จะช่วยเหลือ มีใจบริการ และต้องคิดตลอดเวลาว่า จะทำอย่างไรให้ประชาชนมีความสุข 

        3. พิธีมอบรางวัล จำนวน 2 รางวัล ดังนี้

            3.1 รางวัล Damrongdham Award เป็นรางวัลที่แสดงถึงความสำเร็จในการดำเนินงานแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนร้องทุกข์ของศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดทั่วประเทศที่มีผลงานโดดเด่น
เป็นที่ประจักษ์ (Best Practice) โดยมีศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดที่ได้รับรางวัล จำนวน 5 รางวัล ได้แก่ 

                  1) รางวัลชนะเลิศ คือ ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดสมุทรสงคราม ชื่อผลงาน
การบูรณาการความร่วมมือในการช่วยเหลือและเยียวยาประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ระเบิดและเกิดเพลิงไหม้เรือบรรทุกน้ำมันขนาดใหญ่ เป็นผลงานที่เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาเรือบรรทุกน้ำมันขนาดใหญ่ “Smooth Sea 22” ระเบิดและเกิดเพลิงไหม้ ณ อู่ซ่อมเรือ บริษัท รวมมิตรด็อกยาร์ด จำกัด ตำบลแหลมใหญ่ อำเภอเมืองสมุทรสงคราม จังหวัดสมุทรสงคราม ก่อให้เกิดความเสียหายครอบคลุมพื้นที่ 3 ตำบล ได้แก่
ตำบลแหลมใหญ่ ตำบลบางจะเกร็งและตำบลแม่กลอง อำเภอเมืองสมุทรสงคราม มีผู้เสียชีวิต จำนวน 8 ราย ผู้ได้รับบาดเจ็บ จำนวน 4 ราย ตลอดจนทำให้บ้านเรือน ทรัพย์สิน วัด โรงเรียนและสถานที่ราชการได้รับ
ความเสียหาย โดยบ้านเรือนประชาชนได้รับความเสียหายรวม 227 หลังคาเรือน ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด

- 4 -

 

สมุทรสงคราม ได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการเฉพาะกิจบูรณาการหน่วยงานทุกภาคส่วน เพื่อให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบภัย มีการจัดทำบันทึกข้อตกลงการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าวกับบริษัท รวมมิตรด็อกยาร์ด จำกัด รวมทั้งการประสานความร่วมมือกับสถานเอกอัครราชทูตเมียนมา
เพื่อสำรวจความเสียหายและให้ความช่วยเหลือแก่ทายาทผู้เสียชีวิตสัญชาติเมียนมา


 





 

2) รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 คือ ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดฉะเชิงเทรา
ชื่อผลงาน การแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน กรณี สะพานข้ามคลองหลวงแพ่ง บริเวณหมู่ที่ 2 ตำบลคลองหลวงแพ่ง อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา จังหวัดฉะเชิงเทรา พังถล่มเสียหาย เป็นผลงานที่เกี่ยวกับ
เรื่องทูลเกล้าถวายฎีกาในการแก้ไขปัญหาสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กข้ามคลองหลวงแพ่ง บริเวณหมู่บ้านเลคการ์เด้น เกิดความชำรุดเสียหายทรุดตัว โดยสะพานดังกล่าวเชื่อมเขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานครกับพื้นที่หมู่ที่ 2
ตำบลคลองหลวงแพ่ง อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา จังหวัดฉะเชิงเทรา ก่อให้เกิดความเดือดร้อนของประชาชน
ทั้งกรุงเทพมหานครและจังหวัดฉะเชิงเทราในการสัญจรไปมา ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดฉะเชิงเทราได้แต่งตั้งคณะทำงานสนับสนุนการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยได้จัดทำแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหา โดยแผนระยะสั้นได้ประสาน
ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 3 ปราจีนบุรี ดำเนินการติดตั้งหรือวางสะพานเบลีย์ ใช้เป็นสะพานชั่วคราว โดยให้องค์การบริหารส่วนตำบลคลองหลวงแพ่งสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการติดตั้งและรื้อถอน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในเบื้องต้นและแผนระยะยาวโดยให้องค์การบริหารส่วนตำบลคลองหลวงแพ่งดำเนินการสร้างสะพาน
โดยใช้เงินสะสมขององค์การบริหารส่วนตำบลคลองหลวงแพ่งในการก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายในเดือนมีนาคม 2568







 

3) รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 คือ ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดมหาสารคาม ชื่อผลงาน การแก้ไขปัญหาการฌาปนกิจสงเคราะห์ที่เข้าข่ายฉ้อโกงประชาชนในพื้นที่จังหวัดมหาสารคาม
เป็นผลงานที่เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาการค้างจ่ายเงินสงเคราะห์ศพและตัดสิทธิ์การเป็นสมาชิกที่ไม่เป็นธรรมของสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์วาปีปทุมและกองทุนฌาปนกิจสงเคราะห์วาปีปทุม อำเภอวาปีปทุม
จังหวัดมหาสารคาม โดยมีผู้เสียหายประมาณ 26,000 ราย ทั่วประเทศ วงเงิน 1,400 ล้านบาท ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดมหาสารคาม ได้ดำเนินการจัดการประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อประเมินความเสียหายผลกระทบรวมถึงช่วยเหลือเยียวยาให้กับประชาชน ตลอดจนตรวจสอบการดำเนินการของสมาคมฌาปนกิจ

 

- 5 -

 

สงเคราะห์วาปีปทุมและกองทุนฌาปนกิจสงเคราะห์วาปีปทุม พบว่า ไม่เป็นไปตามพระราชบัญญัติ
การฌาปนกิจสงเคราะห์ พ.ศ. 2545 และกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้อง รวมถึงมีลักษณะการดำเนินการที่เข้าข่ายฉ้อโกงประชาชน จึงประสานหน่วยงานที่รับผิดชอบดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ในกรณีต่าง ๆ ดังกล่าว







 

4) รางวัลชมเชย จำนวน 2 รางวัล คือ 

4.1) ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดภูเก็ต ชื่อผลงาน คืนชายหาดเลพัง ให้ชาวภูเก็ต เป็นผลงานที่เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาการบุกรุก ยึดครอง ก่อสร้างโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้างในที่สาธารณประโยชน์ บริเวณหาดเลพังถึงหาดลายัน หมู่ที่ 4 และหมู่ที่ 6 ตำบลเชิงทะเล อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต ส่งผลให้ประชาชน
ในพื้นที่ไม่สามารถเข้าไปใช้ประโยชน์ร่วมกันได้ โดยจังหวัดภูเก็ต ได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบและปักหลักแนวเขตที่ดิน การเข้าเจรจากับผู้บุกรุกและได้ทำการรื้อถอนและดำเนินคดีต่อผู้บุกรุก รวมทั้งได้มีการบริหารจัดการที่ดินดังกล่าว โดยให้ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดภูเก็ต จัดทำคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานพัฒนา ฟื้นฟู ที่ดินรกร้างว่างเปล่าและคณะทำงานดูแล รักษาและคุ้มครอง ป้องกันที่ดินรกร้างว่างเปล่าบริเวณหาดเลพังถึงหาดลายัน เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2567 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้เป็นประธานเปิดกิจกรรม “มหาดไทย มอบความสุข คืนชายหาดเลพัง ให้ชาวภูเก็ต” จากการแก้ปัญหาดังกล่าว ทำให้รัฐสามารถทวงคืนที่ดินจากผู้ครอบครองที่ดินผิดกฎหมาย จำนวน 172 ไร่ ส่งผลให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวร่วมกัน ซึ่งมีมูลค่ามากกว่า 10,000 ล้านบาท 







 

4.2) ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดสุพรรณบุรี ชื่อผลงาน คืนชีวิตสายน้ำท่าว้า
(ท่าเสด็จโมเดล) เป็นผลงานที่เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาการทิ้งสิ่งปฏิกูลและมูลสุกรลงในแม่น้ำท่าว้าและพื้นที่สาธารณะโดยไม่ผ่านการบำบัดและปัญหาการส่งกลิ่นเหม็นจากการเลี้ยงสุกร เป็นระยะเวลานานไม่น้อยกว่า 30 ปี ส่งผลให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญเป็นวงกว้าง โดยพื้นที่ที่ประสบปัญหารุนแรงอยู่ในเขตตำบลสระแก้ว อำเภอเมืองสุพรรณบุรี และส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งระบบนิเวศ ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดสุพรรณบุรี ได้บูรณาการแก้ไขปัญหากับหน่วยงานต่างๆ รวมทั้งให้ผู้ประกอบการเลี้ยงสุกรในพื้นที่เข้ามามีส่วนรับผิดชอบในการแก้ไขปัญหาเรื่องกลิ่นและคุณภาพของน้ำ โดยกระบวนการจัดการของเสียผ่านการจัดทำโครงการทำระบบก๊าซชีวภาพจากฟาร์มสุกร จากการแก้ไขปัญหาทำให้ประชาชน 768 ครัวเรือน จำนวน

 

- 6 -

 

2,840 คน ได้รับประโยชน์ โดยบ้านท่าว้า หมู่ที่ 5 ตำบลสระแก้ว สามารถนำน้ำในแม่น้ำท่าว้า มาเป็นวัตถุดิบในการทำน้ำประปาหมู่บ้าน ทำให้ลดค่าใช้จ่ายจากการใช้น้ำประปาส่วนภูมิภาค จากลูกบาศก์เมตรละ 39 บาท
เป็นลูกบาศก์เมตรละ 8 บาท ประชาชนในพื้นที่ไม่น้อยกว่า 3,000 ครัวเรือน จำนวน 10,000 คน ได้รับผลกระทบทางด้านกลิ่นเหม็นน้อยลงอย่างเห็นได้ชัดและประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียงได้ใช้พลังงานเชื้อเพลิง สำหรับ
การประกอบอาหาร ทำให้ลดค่าใช้จ่ายครัวเรือนละ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 (ครัวเรือนละไม่น้อยกว่า 100 บาทต่อเดือน)







 

3.2 รางวัล People’s Emotional Award เป็นรางวัลที่แสดงถึงความรู้สึกประทับใจและความคาดหวังของประชาชนต่อศูนย์ดำรงธรรม ภายใต้หัวข้อ “10 ปี ศูนย์ดำรงธรรม นำสุข
สู่ปวงชน” โดยมีประชาชนที่ได้รับรางวัล จำนวน 5 รางวัล ประกอบด้วย 

1) รางวัลชนะเลิศ คือ นางสาวพัชรี  เกิดพรม จังหวัดสตูล ชื่อผลงาน
“แสงสว่างจากศูนย์ดำรงธรรม” เป็นผลงานที่เกี่ยวกับความประทับใจในการแก้ไขปัญหาถนนใช้สัญจรในพื้นที่บ้านทุ่งริ้น หมู่ที่ 1 ตำบลสาคร อำเภอท่าแพ จังหวัดสตูล ไม่มีไฟฟ้าส่องสว่าง เป็นระยะเวลานานกว่า 2 ปี ส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุและอาจก่อให้เกิดปัญหาอาชญากรรมในพื้นที่ ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดสตูล ได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและลงพื้นที่แก้ไขปัญหาอย่างรวดเร็ว ทำให้อุบัติเหตุและอาชญากรรมลดลง







 

2) รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 คือ นางอุไร  เจริญทรง จังหวัดสมุทรสงคราม ชื่อผลงาน “การขยายเขตประปาส่วนภูมิภาคให้ประชาชน” เป็นผลงานที่เกี่ยวกับความประทับใจในการ
แก้ไขปัญหาน้ำประปาหมู่บ้าน (ระบบน้ำบาดาล) ในพื้นที่บ้านปากลัด หมู่ที่ 2 ตำบลคลองเขิน อำเภอเมืองสมุทรสงคราม จังหวัดสมุทรสงคราม ไม่สะอาด มีความเค็ม ไม่สามารถนำมาใช้ได้ รวมทั้งมีความชำรุดบ่อยครั้ง ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดสมุทรสงคราม ได้ประสานการประปาส่วนภูมิภาค สาขาสมุทรสงคราม ตรวจสอบแก้ไขปัญหาและดำเนินการขยายเขตประปาให้แก่ประชาชนในพื้นที่





 

- 7 -








 

3) รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 คือ นายปิยพงษ์  ทองนวล จังหวัดยะลา ชื่อผลงาน “เวลา” เป็นผลงานที่เกี่ยวกับความประทับใจในการดำเนินงานของศูนย์ดำรงธรรม ในมุมมอง “แม้ว่าอาจจะใช้เวลาในการแก้ไขปัญหา แต่ศูนย์ดำรงธรรมได้ช่วยเหลืออย่างเต็มที่และคืนรอยยิ้มให้กับผู้ร้องเรียน”  







 

    เอกสารประกอบ



สรุปผลการดำเนินโครงการสัมมนาเชิงปฏิบัติการงานครบรอบ 10 ปี ศูนย์ดำรงธรรม นำสุขสู่ปวงชน
 
    วันที่ลงข่าว
: 4 ธ.ค. 2567
    ผู้ลงข่าว : ผู้ดูแลระบบสำนักปลัด