
อ่านข่าวต้นฉบับ .jpg) https://siamrath.co.th/n/606249

อบต.โคกกลาง อ.ลำปลายมาศ จ.บุรีรัมย์ จับมือ มูลนิธิอาณัตพณ ซารัมย์ (ลูกเติ้ง) ผุดไอเดีย สอนให้เกษตรกรและชาวบ้าน นำเศษฟางและตอซังข้าวที่เหลือทิ้งตามทุ่งนา มาใช้ให้เกิดประโยชน์ โดยการใช้เป็นวัตถุดิบหลักในการเพาะเห็ดฟาง เพื่อสร้างแหล่งอาหารและสร้างรายได้เสริม รวมทั้งยังลดการเผา ป้องกันการเกิดฝุ่น PM2.5
เมื่อวันที่ 7 มี.ค.68 นายโสภณ ซารัมย์ ส.ส.บุรีรัมย์ พรรคภูมิใจไทย และประธานคณะกรรมาธิการการศึกษา สภาผู้แทนราษฎร เปิดโครงการส่งเสริมอาชีพด้านการเกษตรกรรมในระดับครัวเรือน ประจำปีงบประมาณ 2568 พร้อมมอบวัสดุอุปกรณ์และปัจจัยในการผลิตให้กับตัวแทนเกษตรกร ซึ่งทาง อบต.โคกกลาง และมูลนิธิอาณัตพณ ซารัมย์ (ลูกเติ้ง) ให้การสนับสนุนวัสดุ ในการทำเห็ดฟางทั้งหมด ซึ่งจัดขึ้นที่บริเวณศาลากลางหมู่บ้านโสรกขี้หนู (อ่านว่า-โสก-ขี้-หนู) ต.โคกกลาง อ.ลำปลายมาศ จ.บุรีรัมย์ โดยมี นายเจริญ สุขวิบูลย์ นายก อบต.โคกกลาง พร้อมด้วยส่วนราชการ ผู้นำชุมชน และกลุ่มตัวแทนประชาชนจากพื้นที่ ต.โคกกลาง เข้าร่วมกิจกรรม

โดยเป็นการฝึกอบรมให้ความรู้ เกี่ยวกับวิธีการเพาะปลูกเห็ดฟางให้กับชาวบ้าน โดยการใช้ประโยชน์จากเศษฟางข้าวและตอซังข้าว ที่เหลือทิ้งตามทุ่งนา หลังจากการเก็บเกี่ยวผลผลิต นำมาสร้างเป็นแหล่งอาหาร เพื่อก่อให้เกิดการสร้างรายได้เสริมให้กับครอบครัว และชาวบ้านจะได้ไม่ต้องเผาฟางข้าวหรือตอซังข้าว ที่จะทำให้เป็นอีกสาเหตุหนึ่งของการเกิดฝุ่น PM2.5
นายโสภณ ซารัมย์ ประธานคณะกรรมาธิการการศึกษา สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า โครงการนี้เป็นโครงการหนึ่งกิจกรรมประโยชน์สามอย่าง ได้แก่ ลดการเผาตอซัง ฟางข้าวในนา เป็นการลดฝุ่น PM 2.5 ทั้งยังเป็นการสร้างอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ ลดรายจ่ายให้กับประชาชน และนำเศษวัสดุหลังจากเก็บเห็ดฟางแล้วไปทำปุ๋ยหมักในฤดูทำนาต่อไป

ด้านนายเจริญ สุขวิบูลย์ นายก อบต.โคกกลาง กล่าวว่า จากกรณีปัญหาฝุ่นควัน PM2.5 ที่ได้เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ และได้มีแนวคิดในการป้องกันและแก้ไข โดยจะต้องก่อให้เกิดประโยชน์และส่งเสริมอาชีพแก่ชาวชุมชนในพื้นที่ จึงได้จัดโครงการสอนเพาะเห็ดฟางขึ้นมา ซึ่งขั้นตอนของการเพาะเห็ดฟางก็ไม่ยุ่งยาก อีกทั้งเห็ดฟางถือเป็นพืชเศรษฐกิจอีกชนิดหนึ่ง ที่จะสามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชน จึงได้นำเศษฟางและตอซังข้าวที่อยู่ตามทุ่งนา ที่ถือเป็นต้นเหตุของการเผาของเกษตรกรหลังการเพาะปลูก ที่ก่อให้เกิดฝุ่นควัน PM2.5 เปลี่ยนมาใช้เป็นวัตถุดิบหลักในการเพาะเห็ดฟาง เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยลดปัญหา ที่เกิดจากการเผาและลดฝุ่นควัน PM2.5 อีกทั้ง เมื่อใช้ประโยชน์จากการเก็บเห็ดฟางแล้ว กองฟางดังกล่าวก็จะเป็นปุ๋ยหมักอย่างดี สำหรับนำไปใช้บำรุงดินในไร่นาต่อไป ซึ่งยังจะเป็นการช่วยลดต้นทุนการผลิตในการทำนาอีกด้วย
ทั้งนี้ นอกจากจะสนับสนุนส่งเสริม ให้เกษตรกรและชาวบ้านในพื้นที่ ต.โคกกลาง ได้เพาะเห็ดฟางไว้บริโภคเพื่อลดรายจ่ายในครัวเรือนแล้ว หากเหลือหรือผลผลิตออกมาเยอะ ทาง อบต.โคกกลาง จะเป็นตัวกลางจัดหาตลาดให้กับเกษตรกรและชาวบ้านที่เข้าร่วมโครงการเพาะปลูกเห็ดฟางในครั้งนี้ด้วย

ด้าน นางอุดร เผือกพันธ์ อายุ 61 ปี บ้านสำโรง หมู่ที่ 3 ต.โคกกลาง อ.ลำปลายมาศ บอกว่า ตั้งใจเข้าร่วมอบรมเพื่อจะได้นำความรู้ที่ได้ไปต่อยอด และทำการเพาะเห็ดฟางเองที่บ้าน โดยจะทดลองเพาะเห็ดดูสักล็อกก่อน หากดีก็จะขยายพื้นที่ ซึ่งมองว่าจะเกิดประโยชน์แก่ตนเองและครอบครัว ทั้งมีอาหารไว้กินเอง ส่วนที่เหลือก็จะแบ่งไว้ขาย จึงเป็นที่มาที่ตนเองอยากจะทำการเพาะเห็ดฟาง
ขอบคุณภาพข่าว : สยามรัฐ
|